‘วัคซีน’ ความหวังต้านไวรัส ‘โควิด-19’ จะพร้อมใช้งานเมื่อไหร่?

‘วัคซีน’ ความหวังต้านไวรัส ‘โควิด-19’ จะพร้อมใช้งานเมื่อไหร่?

ท่ามกลางการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ หรือ โควิด-19 ในทวีปยุโรป และเริ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลแต่ละประเทศใช้มาตรการมากมายเพื่อรับมือ แต่ก็ทำได้แค่ชะลอการแพร่กระจายของเชื้อ ตอนนี้ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่การผลิตวัคซีน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เราล้มป่วย แต่คำถามคือ วัคซีนจะมาเมื่อไหร่?

ปัจจุบันนี้ กว่า 35 บริษัทและสถาบันทั่วโลกกำลังเร่งมือผลิตวัคซีนสำหรับต่อต้านเชื้อโควิด-19 ออกมา โดยมีอย่างน้อย 4 แห่งที่มีตัวอย่างวัคซีนรุ่นแรกแล้ว โดยบริษัทแรกที่ผลิตได้คือ ‘โมเดอร์นา’ (Moderna) ซึ่งร่วมมือกับสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (NIAID) ของสหรัฐฯ เริ่มการทดลองในคนไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา

*เบื้องหลังความเร็วในการวิจัยวัคซีนสู้โควิด-19

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับว่ารวดเร็วมาก เพราะเชื้อโควิด-19 เพิ่งถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยส่วนใหญ่ต้องขอบคุณความพยายามของจีนในการจัดเรียงสารพันธุกรรมของไวรัส ‘ซาร์-โควี-2’ (Sars-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 และแบ่งปันข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ทำให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเพาะตัวอย่างไวรัสและศึกษาการทำงานของมัน

อีกปัจจัยคือ ความรู้จากความพยายามผลิตวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุอื่นๆ ที่เคยระบาดในโลกก่อนหน้านี้เช่นเชื้อซาร์ (Sars) ที่ระบาดในจีนช่วงปี 2545-47 และเชื้อเมอร์ส (Mers) ซึ่งระบาดในซาอุดีอาระเบียในปี 2555 โดยการวิจัยวัคซีนสำหรับทั้ง 2 กรณีถูกเก็บเข้ากรุไปเพราะการระบาดถูกควบคุมได้ก่อนจะวิจัยสำเร็จ และหลายบริษัทเช่น ‘โนวาแว็กซ์’ (Novavax) กำลังนำตัวอย่างวัคซีนเหล่านั้นมาปรับเพื่อใช้กับ ซาร์-โควี-2 และพร้อมทดลองวัคซีนหลายตัวกับมนุษย์ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้

*ไวรัส ซาร์-โควี-2 มีลักษณะอย่างไร

เชื้อ ซาร์-โควี-2 มีสารพันธุกรรมคล้ายกับไวรัสซาร์ส 80-90% มันมีสายอาร์เอ็นเอ หรือกรดไรโบนิวคลีอีก อยู่ในแคปซูลโปรตีนทรงกลมที่มีหนามแหลม ซึ่งหนามนี่จะไปเกาะกับตัวรับบนผิวเซลล์ในปอดมนุษย์ ให้ไวรัสฝ่าเข้าไปในเซลล์แล้วยึดกลไกการสร้างใหม่ของเซลล์ และผลิตร่างก๊อบปี้ของตัวเองออกมาเรื่อยๆ และฆ่าเซลล์ไปพร้อมๆ กัน



*วัคซีนทำงานอย่างไร?

วัคซีนทุกชนิดมีหลักการทำงานพื้นฐานเหมือนกันหมด คือการนำเสนอไวรัสบางส่วนหรือทั้งหมดให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้รู้จัก ตามปกติจะใช้วิธีฉีดในปริมาณน้อยเพื่อกระตุ้นระบบให้ผลิตสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี้ต่อไวรัสนั้นๆ ซึ่งแอนติบอดี้ก็เปรียบเหมือนความทรงจำภูมิคุ้มกัน ที่เมื่อถูกกระตุ้นแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วหากได้รับไวรัสตัวเดิม

อย่างไรก็ตาม วัคซีนจะมีประสิทธิภาพน้อยลงในกลุ่มคนชราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอายุที่มากขึ้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยตามไปด้วย ส่งผลให้ตอบสนองต่อการกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก

*เมื่อไหร่วัคซีนจะพร้อม?

อย่างที่ระบุไปข้างต้น หลายบริษัทและสถาบันเช่น NIAID และ โนวาแว็กซ์ เริ่มหรือเตรียมการทดสอบวัคซีนในมนุษย์แล้ว ซึ่งถ้าผลลัพธ์เป็นไปได้ด้วยดี ก็อาจมีการทดลองใช้ในคนในช่วงปลายปีนี้ แต่ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะพัฒนาวัคซีนได้ก่อนหมดปี 2563 ก็ยังเหลืองานใหญ่อีกอย่างคือการผลิตเป็นจำนวนมาก

หมายความว่า ในความเป็นจริงแล้ว กว่าวัคซีนจะพร้อมใช้งานจริงก็ต้องรอจนถึงอย่างน้อย กลางปี 2564 ขณะที่ศ. แอนเนลีส ไวล์เดอร์-สมิธ ศาสตราจารย์ด้านโรคอุบัติใหม่จากสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนและอนามัยในกรุงลอนดอน ก็คาดการณ์ว่า วัคซีนคงไม่พร้อมใช้งานก่อน 18 เดือนหลังจากนี้ และนั่นคือกรณีที่ไม่เกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้นเลยด้วย



*ทำไมต้องรอนานขนาดนั้น?

การสร้างภูมิคุ้มกันจะทำได้ต่อเมื่อได้รับไวรัสที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอ หรือไวรัสที่หยุดทำงานแล้วจากการได้รับความร้อนหรือสารเคมี แต่วิธีเหล่านี้มีข้อเสีย เพราะไวรัสที่ยังมีชีวิตยังสามารถวิวัฒนาการต่อในตัวผู้รับเชื้อได้ และอาจฟื้นฟูความเป็นพิษดั้งเดิมของมันทำให้เกิดอาการป่วยได้ ขณะที่การฉีดไวรัสที่ไม่ทำงานแล้วในปริมาณมากหรือต่อเนื่อง ก็ต้องได้รับการป้องกันในระดับที่เพียงพอ

ขณะที่การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (Clinical trials) หรือการทดลองนำวัคซีนไปใช้ ก็เป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อผ่านการอนุมัติการใช้ยา โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 เฟส เริ่มจากการทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวนไม่กี่สิบคน เพื่อทดสอบประสิทธิผลของวัคซีน เฟสที่ 2 เพิ่มจำนวนเป็นหลายร้อยคน ซึ่งมักจะใช้สถานที่ที่กำลังเกิดการระบาดในการทดลอง เพื่อดูว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพอย่างไร ส่วนเฟสที่ 3 ทดลองเหมือนเดิมแต่กับคนหลายพันคน

3 ขั้นตอนนี้เองที่อาจทำให้การพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี เพราะโอกาสเกิดความผิดพลาด, ผลข้างเคียงหรือความล้มเหลวมีสูง และนักวิจัยต้องกำจัดความเสี่ยงที่วัคซีนจะไปทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นให้หมดด้วย การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก จึงเป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถข้ามหรือรีบร้อนได้

นี่ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมาหลังจากการวิจัยวัคซีนเสร็จสิ้น ไม่ว่าจะการขออนุมัติ, การผลิตจำนวนมาก และการแบ่งสันปันส่วนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในช่วงไข้หวัดนก H1N1 ระบาดเมื่อปี 2552 ที่ประเทศร่ำรวยกวาดซื้อวัคซีนไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประเทศยากจนกลับเข้าไม่ถึงวัคซีนเลย

*เมื่อไม่มีวัคซีน ดูแลความสะอาดสำคัญที่สุด

วัคซีนอาจช่วยเหลือชีวิตได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันกลายเป็น โรคประจำถิ่นหรือปรากฏขึ้นมาเป็นฤดูกาลอย่างไข้หวัดใหญ่ แต่กว่าจะถึงตอนนั้น เมื่อยังไม่มีวัคซีน ความหวังที่ดีที่สุดของเราในการควบคุมเชื้อโควิด-19 ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือ การล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนเยอะๆ นั่นเอง
 



 


ที่มา : thairath


BY : หนูนา

สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598, 092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้