สธ.แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 4 คน มาจากอิตาลีและอิหร่าน รวมผู้ป่วยสะสม 47 ราย

สธ.แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 4 คน มาจากอิตาลีและอิหร่าน รวมผู้ป่วยสะสม 47 ราย

  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มอีก 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลีและอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์การระบาดมีความรุนแรง ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมในไทยเพิ่มเป็น 47 คน




นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าววันนี้ (5 มี.ค.2563) ว่าผู้ป่วยรายใหม่ 4 ราย เป็นชาวอิตาลี ชาวจีน และชาวไทย 2 ราย ทั้งหมดเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศอิตาลีและอิหร่าน มีรายละเอียดดังนี้

รายที่ 1 เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 29 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 1 มี.ค. เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ด้วยอาการ ไข้ ไอ ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลชลบุรี

รายที่ 2 เป็นชายชาวไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 2 มี.ค. เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ด้วยอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ ผู้ป่วยรายนี้ไม่ความเกี่ยวข้องใด ๆ กับผู้ป่วยรายที่ 1

ไวรัสโคโรนา : "ผีน้อย" กลับไทยจาก 2 เมืองของเกาหลีใต้ ต้องถูกกักตัว 14 วัน ในพื้นที่ควบคุมของรัฐ ไม่ให้กลับบ้าน
ไวรัสโคโรนา : สธ.บอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่พบในไทยในรอบ 50 วัน
รายที่ 3 ชายชาวจีนอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางมาจากประเทศอิหร่านเพื่อต่อเครื่อง เมื่อวันที่ 1 มี.ค. เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิตรวจพบว่ามีไข้ร่วมกับมีอาการไอและมีน้ำมูกในระหว่างการต่อเครื่อง จึงส่งรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร

รายที่ 4 ชายชาวไทย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางกลับมาจากประเทศอิหร่าน เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 27 ก.พ. เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ใน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก

นพ.สุวรรณชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 31 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาล 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

จัดเตรียม "พื้นที่ควบคุมโรค" รองรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเสี่ยง

อธิบดีกรมควบคุมโรคอธิบายถึงมาตรการคัดกรองและกักกันโรคผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจากพื้นที่ที่พบการระบาดว่า ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมาถึงท่าอากาศยานจะถูกจำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้ที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย จะดำเนินการแยกพักรักษาที่สถานพยาบาล

2.ผู้ที่ไม่ได้ป่วย แต่กลับมาจากพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของโรคสูง จะแยกพัก ณ พื้นที่ควบคุมโรค ที่รัฐบาลกำหนด

3.ผู้ที่ไม่ได้ป่วย แต่เดินทางจากพื้นที่อื่น ให้ดำเนินแยกพัก ณ พื้นที่กำกับของแต่ละจังหวัด

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ขณะนี้ สธ. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงกลาโหม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังจัดเตรียมสถานที่เพื่อใช้เป็น "พื้นที่ควบคุมโรค" รองรับผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

พื้นที่ควบคุมโรคนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ทั้งห้องครัว ห้องพยาบาล ระบบจัดการขยะที่ได้มาตรฐานและมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ตลอด

นพ.สุวรรณชัยย้ำว่าผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด กล่าวคือต้องเก็บตัวอยู่ในที่พักเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน

"แต่จากการรายงานว่าพบคนกลุ่มคนดังกล่าวยังร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน จึงจะมีการยกระดับมาตรการติดตามผู้ที่เดินทางมาก่อนหน้านี้ ตามรายชื่อของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง...ย้ำอีกครั้งให้ปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวัง ว่ามีไข้มีอาการของโรคทางเดินหายใจหรือไม่ จนครบไม่น้อยกว่า 14 วัน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว โดยอ้างถึงรายงานข่าวที่ว่าแรงงานไทยที่กลับจากประเทศเกาหลีบางคน ไม่ได้กักตัวอยู่ในบ้านและยังคงออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น รับประทานอาหารในร้านอาหารหรือไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า

"เพื่อเป็นการป้องกันโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค ต้องย้ำนะครับว่าเป็นสำนึกความรับผิดชอบ (ของผู้ที่กลับจากประเทศที่มีการระบาด) ที่มีต่อสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นความรับผิดชอบของคนในสังคม ที่จะไม่ไปรังเกียจ ตีตรา หรือเลือกปฏิบัติจนออกกนอกหน้า" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

BY : หนูพลุก

ที่มา : BBC NEW THAI 

สนใจแพคเกจท่องเที่ยว, ตั๋วเครื่องบินทั่วโลก หรือบัตรท่องเที่ยวต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-2945598,  092-294 5598
หรือ คลิ๊ก https://www.itravelroom.com/



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้